เด็กทารกก่อน 6 เดือน การทำงานของลำไส้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะย่อยอาหารหนัก ดังนั้นองค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้บริโภคแต่นมแม่ก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
  แต่ผู้ใหญ่ในบ้านหลายท่านอาจจะเคยชินกับการเลี้ยงเด็กแบบสมัยก่อน ที่เริ่มป้อนกล้วยน้ำว้าตั้งแต่แบเบาะด้วยเหตุผลคือกลัวเด็กไม่อิ่ม ซึ่งเป็นอันตรายมากๆ ในอดีตที่การสื่อสารยังไม่รวดเร็วเท่านี้ ข่าวสารการเสียชีวิตของเด็กทารก จากการรับประทานผิดวิธียังไม่ทั่วถึง ดังนั้นคงพูดไม่ได้ว่า เมื่อก่อนป้อนกล้วยได้ ไม่เห็นตายหรอกนะคะ

  สารอาหารจากกล้วยไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายเด็กทารกมากกว่าข้าวและผักอื่นๆ การให้เด็กรับประทานกล้วยก่อนวัยอันควรทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันและหากรักษา ไม่ทันท่วงทีอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ไม่คุ้มเสี่ยงแน่นอน

  สีขาวบนลิ้นของเด็กทารกส่วนใหญ่เกิดจากการนม โดยเด็กที่กินนมแม่ มีโอกาสน้อยที่คราบนมจะสะสมจนกลายเป็นอันตราย เพราะนมแม่ มีความเข้มข้นน้อยกว่านมชง หากลิ้นเป็นฝ้าขาวจะเกิดขึ้นไม่นาน และจะหายไปเอง โดยไม่ต้องเช็ดหรือป้อนน้ำเพิ่มเลยค่ะ ส่วนเด็กที่กินนมผง หากไม่ป้อนน้ำต้มสุกตาม หรือเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าก๊อชชุบน้ำสะอาด จะก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียในปากได้ ถ้าเด็กมีอาการ ร้องไห้งอแงผิดปกติ หรือทานอาหารได้น้อยลง อาจจะสงสัยว่าลิ้นเป็นฝ้าขาวจากเชื้อราได้

   พบแพทย์ดีที่สุด คุณหมออาจจะจ่ายยาป้ายลิ้นแผนปัจจุบันให้ในกรณีที่เป็นเชื้อรา ไม่ควรใช้ฉี่ หรือยากวาดตามความเชื่อโบราณ เนื่องจากปัสสาวะมีเชื้อโรคผสมอยู่ รวมถึงการใช้ยากวาด ไม่สามรถทราบได้ว่าสิ่งที่นำมาเข้าสู่ร่างกายของ ลูกเรามีส่วนผสมอะไรที่เป็นอันตรายหรือไม่

  หลายคนเชื่อว่ากินน้ำผึ้งแล้วทำให้ผิวสวย ผมดกดำ สร้างเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ทั้งที่ความจริงแล้วน้ำผึ้ง นอกจากจะมีผลให้เด็กติดหวาน เบื่ออาหารที่ไม่มีรสชาติ แล้วยังมีอันตรายจากการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อโรคที่ทำให้เป็นโรคโบทูลิซึ่ม (Botulism Toxin)
  ทั้งนี้โรคนี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้กับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ทำให้เกิดอาการ ท้องผูก, เบื่ออาหาร, ซึม, ไม่มีแรง, ร้องไห้เสียงเบา, ชัก, หายใจติดขัด, และเสียชีวิตได้

  สำหรับคุณแม่ที่ให้นมบุตรไม่มีข้อห้ามในการรับประทานน้ำผึ้ง เพราะผู้ใหญ่จะสามารถย่อยสปอร์ได้ และไม่ส่งผ่านทางน้ำนม

  ในเนื้อปลามีสาร DHA หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการพัฒนาของสมองจริง เด็กทารกที่ได้รับสารชนิดนี้ ในช่วง 3 ขวบปีแรก มีโอกาสที่จะมีฉลาดกว่าเด็กที่ขาด DHA แน่นอน
  DHA สามารถพบได้ในปลาทะเลหรือปลาประเภทที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่าปลาซาร์ดีน ปลาซาบะ ปลาแมคคาเรล แต่นอกจากปลาทะเลน้ำลึก จากต่างประเทศแล้ว ปลาทะเลของไทยก็มีคุณค่าทางโภชนาการและโอเมก้า3 สูง ไม่แพ้กันได้แก่ ปลาจะละเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาอินทรีย์ ปลาทู ปลาจะละเม็ดดำ ปลาเก๋า รวมถึงปลาน้ำจืดของไทยบางชนิดโดยเฉพาะปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อนปลาสลิดปลาตะเพียนปลากราย ปลานิล และปลาไหล เป็นต้น

  อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน รวมถึงการรับประทานปลาทะเลมีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ จึงแนะนำให้เริ่มป้อนทารกจากปลาน้ำจืดก่อนและให้เริ่มปลาทะเลเมื่ออายุครบ 1 ขวบเป็นต้นไป

  ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องการรับประทานอาหารปรุงสด ผู้ใหญ่เองแล้วการรับประทานอาหารที่ใหม่สดสะอาดก็ปลอดภัยจากเชื้อโรคได้มากกว่าด้วยเช่นกัน แต่การทำอาหารสดสำหรับเด็กทารกดูจะยุ่งยากเสียเหลือเกินในความคิดของคุณแม่มือใหม่ แท้จริงแล้วอาหารสำหรับเด็กวัยเริ่มทานนั้นทำง่ายแสนง่าย ง่ายกว่าอาหารผู้ใหญ่อีกด้วยเนื่องจากไม่ต้องปรุงรสชาติ เพียงแค่กะปริมาณและสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ นำมานึ่งให้สุกแล้วปั่นละเอียดก่อนป้อน เพียงเท่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารสำเร็จรูปที่เสี่ยงต่อสารเจือปนและสารกันบูด สารอาหารก็ได้เต็มที่กว่าอีกด้วย

  แต่หากจำเป็นต้องเลือกใช้อาหารเสริมสำเร็จรูปเป็นบางครั้ง ควรเลือกที่ไม่ผสมสารกันบูด ไม่มีการปรุงรส ตรวจสอบส่วนผสมให้ดีว่ามีเจือปนสิ่งที่ลูกน้อยอาจจะแพ้ได้หรือไม่ “แต่ไม่แนะนำให้ทานอาหารสำเร็จรูปเป็นประจำนะคะ”

  ธาตุเหล็กมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของสมอง และเป็นส่วนประกอบสำคัญในเลือดของเราเป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่าง ๆ หากขาดธาตุเหล็กจะส่งผลต่อพัฒนาการ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย อาจจะมีอาการตัวซีดเหลือง
  ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ประกอบอยู่ในนมแม่เพียงแต่ปริมาณธาตุเหล็กอาจจะไม่เพียงพอกับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มทานอาหารเสริมแล้วจึงสามารถเสริมธาตุเหล็กได้จากอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง หรือได้รับการเสริมธาตุเหล็กจากแพทย์ ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผงแต่อย่างใด

  แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง และผักใบเขียว สารอาหารที่จะช่วยการดูดซึมของธาตุเหล็กจากอาหารคือวิตามินซี ซึ่งได้รับจากการรับประทานผลไม้

  บริเวณกระดูกนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือ สันจมูก (กระดูกแข็ง) กับปลายและปลีกจมูก (กระดูกอ่อน) การบีบหรือคลึงช่วยกระตุ้น การเจริญเติบโตของจมูกได้จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากคุณแม่บีบบริเวณสันจมูก ส่วนใหญ่จะไม่มีผลกระทบร้ายแรง แต่ในการบีบบริเวณกระดูกอ่อนนั้น อาจก่อให้เกิดอาการบวมหรืออักเสบได้ง่าย เพราะบริเวณนั้นเป็นส่วนที่มี เส้นเลือดฝอยอยู่จำนวนมาก ซึ่งการอักเสบอาจทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการภูมิแพ้ มีก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติอื่น อาการเหล่านี้ค่อนข้างเป็นอันตราย เนื่องจากทารกยังหายใจทางปากไม่เป็น และไม่สามารถบอกคุณแม่ได้

  เด็กทารกเมื่อคลอดใหม่ๆ จมูกมักจะแบน และเมื่อโตขึ้นก็จะโด่งขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งจมูกจะโด่งแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับกรรมพันธุ์ด้วย การบีบไม่ได้มีผลทำให้จมูกโด่งขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการบวมหรืออักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อลูก เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก เราจึงควรปล่อยให้ลูกได้เติบโตตามธรรมชาติและดูแลในส่วนที่เหมาะสมค่ะ

  การให้ลูกนอนคว่ำนั้น อาจจะทำให้หัวสวยจริงแต่ตามหลักทางการแพทย์ คุณหมอไม่แนะนำ เนื่องจากพบว่ามีกรณีเด็กที่นอนคว่ำ มีอาการหยุดหายใจ และเสียชีวิต โดยเกิดได้หลายสาเหตุ เช่นนอนคว่ำหลังจากพึ่งทานนมเสร็จ มีอาการสำลักนมแล้วคุณแม่มองไม่เห็น หรือ เกิดการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากจมูกและปากจมไปในฟูกหรือผ้าขนหนู และ การนอนคว่ำ ยังเพิ่มความเสี่ยงของภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือโรคไหลตายในทารก โรคนี้มักพบในทารกอายุ 2-4 เดือน แต่ไม่มีสถิติการเสียชีวิตของทารกจากโรคนี้ในประเทศไทย

  การให้ลูกนอนคว่ำ เป็นอันตรายต่อทารก และไม่ได้ช่วยให้เด็กนอนได้นานขึ้น ดังนั้นในสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ “ให้เด็กนอนหงาย” (Back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนของเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี 1992 ซึ่ง พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจนค่ะ